How to Design Car Parking for Low-Rise Buildings

 ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องใช้รถยนต์ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวพักผ่อนหรือไปดูสถานที่ก่อสร้างครับ หลายครั้งที่ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ก็มักจะมองหาร้านอาหารอร่อย ๆ ทาน บางครั้งก็จอดในลานจอดรถ บางครั้งก็จอดข้างถนน บางครั้งก็จอดในอาคารจอดรถยนต์ บ่อยครั้งที่หาที่จอดรถไม่ได้

 

วันนี้จึงอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกันที่จอดรถยนต์ของอาคารขนาดเล็กครับ บ้านเรายังมี อพาร์ทเมนท์ ร้านอาหาร super market หรือร้านกาแฟ ขนาดเล็กกระจายอยู่ตามซอยหรือถนนทั่วไป อาคารหลายแห่งก็ได้มีการจัดเตรียมที่จอดรถยนต์เอาไว้บริการลูกค้าไว้หลายแบบ ที่พอจะแบ่งรูปแบบได้ดังนี้

1. จอดรถด้านหน้าอาคาร สำหรับอาคารขนาดเล็ก ไม่มีพื้นที่โครงการใหญ่มากและมีที่ดินหน้ากว้างติดถนน การจอดรถแบบเฉียงไปตามแนวถนนดูจะเป็นสิ่งที่น่าจะจัดทำ เพราะใช้พื้นที่ในการจอดรถยนต์น้อย สามารถใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ว่างด้านหน้าอาคาร และไม่นับเป็นพื้นที่อาคารอีกด้วย แต่การจอดรถแบบนี้อาจสร้างปัญหาให้กับการจราจรได้โดยง่าย ทุกครั้งที่มีการเข้าจอดหรือออกจากที่จอดรถ จะมีการชะลอตัวของการจราจร บางครั้งสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย

2. จัดที่จอดรถและทางวิ่งบนที่ว่างของโครงการและสร้างอาคารไว้ด้านหนึ่งหรือโดยรอบ วิธีนี้เหมาะกับโครงการขนาดไม่ใหญ่มาก การจัดที่จอดรถแบบนี้จะได้พื้นที่จอดรถที่มีราคาค่าก่อสร้างต่ำ ไม่ต้องนำพื้นที่นี้มาคิดเป็นพื้นที่อาคาร ทำให้จัดที่จอดรถชิดเขตที่ดินได้ สำหรับโครงการที่ติดปัญหาเรื่องขนาดพื้นที่อาคารและการออกแบบอาคารที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็สามารถใช้แนวทางนี้ได้

3. จัดที่จอดรถยนต์ใต้อาคาร การจัดที่จอดรถยนต์แบบนี้ได้ประโยชน์ต่อผู้จอดที่มีร่มเงาอาคารและที่กันฝน เหมาะสำหรับโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถจัดที่จอดรถยนต์ตามความต้องการไว้บนพื้นที่ชั้นเดียว การออกแบบเมื่อมีที่จอดรถยนต์เกิน 7 คัน ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอาคารในเรื่องระยะร่น และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากกว่า

4. จัดที่จอดรถยนต์นอกอาคารและจัดสร้างหลังคาคลุม รูปแบบที่จอดรถแบบนี้มีเห็นได้ทั่วไป หลังคามีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างแบบถาวรที่เป็นเหล็ก กระเบื้อง ไปจนถึงหลังคาแบบกึ่งถาวรที่ใช้ตาข่ายพลาสติกมาทำหลังคา การจัดสร้างที่จอดรถแบบนี้ถือว่าเป็นอาคารเนื่องจากมีความสูงเกิน 1.10 เมตร จึงต้องมีการเว้นระยะตามที่กฎหมายกำหนดและนำไปคิดรวมกันพื้นที่อาคารรวม ราคาค่าก่อสร้างยังมีราคาไม่สูงมาก ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เลือกใช้ ในการออกแบบสามารถสร้างหลังคาให้ต่อเนื่องกันเป็นทางเดินที่กันแดดกันฝนได้ในระดับหนึ่ง

 

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการจัดที่จอดรถยนต์ขึ้นอยู่กับความต้องการและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว หากแต่ผู้ออกแบบหรือเจ้าของอาคารจะต้องพิจารณาการใช้งานจริง โดยไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมหรือผู้ใช้สอยเส้นทางตามท้องถนนอื่น ๆ ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนการจอดรถยนต์แบบตั้งฉากกับถนนสาธารณะ ควรหลีกเลี่ยง เพราะเป็นการจอดที่ไม่ปลอดภัย มีการเบียดเบียนทางเดินเท้าของประชาชนและก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย การจัดที่จอดรถบนดินเหมาะกับอาคารขนาดเล็ก ประหยัด และยังคงรักษาสภาพของที่เปิดโล่ง ซึ่งเปิดโอกาศให้เราปลูกต้นไม้ในบริเวณที่จอดรถได้