Simply put: Building Inspection _ สรุปการตรวจสอบอาคาร

ตามที่ผมได้เขียนไว้ใน blog ต่อเนื่องนับเป็นอาทิตย์ที่ 3 เริ่มตั้งแต่ข้อกำหนดทางกฏหมายว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 ธํนวาคม พศ 2548 พร้อมกำหนดประเภทของอาคารที่เข้าข่ายตามข้อกำหนดในกฏกระทรวง ที่จะต้องทำการตรวจสอบสภาพอาคารโครงสร้างของตัวอาคาร อุปกรณ์ประกอบต่างๆของอาคาร เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัยในการใช้อาคาร กล่าวโดยสังเขปประเภทของอาคารที่ต้องทำการตรวจสอบ 9 ประเภท คือ อาคารที่มีขนาดใหญ่ อาคารสูงเกิน 23 เมตร อาคารชุมนุมคน โรงงานขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด โดยเป็นอาคารที่ได้ก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี จะต้องทำการตรวจสอบใหญ่เป็นครั้งแรกให้แล้วเสร็จ และเสนอรายงานผลการตรวจสอบแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กฏกระทรวงมีผลบังคับ โดยการรับรองจาก บุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักควบคุม และตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง

ถ้าสงสัยว่าอาคารใดอาคารหนึ่งนั้นเข้าข่ายที่จะต้องทำการตรวจสอบอาคาร หรือไม่ ได้ในblog ที่ผมเขียนตาม link นี้ ได้ www. หรือจาก website ของกรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร http://services.dpt.go.th/mm_auditbldg/  ในwebsite ดังกล่าวยังสามารถตรวจหารายชื่อ ที่ยู่ของบุคคล หรือ นิติบุคคลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อเข้ามาตรวจสอบอาคารของท่านได้ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบอาคาร และขั้นตอนในการตรวจสอบอาคารตามกฏหมายว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ได้

สรุปขั้นตอนการตรวจสอบอาคารดังนี้

การตรวจสอบนี้จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจสภาพการใช้งานและความปลอดภัยเป็นหลัก  การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. การตรวจสอบใหญ่ ให้กระทำทุกระยะ 5 ปี โดยอย่างน้อยต้องทำการตรวจสอบเรื่องดังต่อไปนี้

1.1 การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร

1.2การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร
1.3 การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร

1.4 การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร

2. การตรวจสอบประจำปี ให้กระทำในช่วงปีระหว่างการตรวจสอบใหญ่เป็นประจำทุกปีตามแผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปีที่ผู้ตรวจสอบจัดทำขึ้นคือ

2.1 แผนปฏิบัติการ การตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร  รวมทั้งคู่มือปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อเป็นแนวทางการตรวจบำรุงรักษาและการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาอาคาร

2.2 แผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปี รวมทั้งแนวทางการตรวจสอบตามแผนดังกล่าวให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปี

ตามข้อกำหนดที่ได้ระบุไว้ในกฏหมายว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร พศ 2548        ระบุไว้ว่า อาคารใดที่เข้าข่ายในการตรวจสอบอาคาร จะต้องทำการตรวจสอบอาคารพร้อมทำการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้อาคารมีความแข็งแรงมั่นคง และปลอดภัย ภายใน  1 มีนาคม 2551  ถ้าไม่ทำการตรวจสอบอาคาร และทำการแก้ไขอาคารเหล่านั้นให้มีความแข็งแรงปลอดภัย ในการใช้งาน และการเข้าอยู่อาศัย จะมีความผิดตามประมวลกฏหมายแพ่ง และพาณิชย์

1. ไม่จัดให้มีการตรวจสอบ (มีความผิดตามมาตรา 65 ทวิ)

1.1. จำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

1.2. ปรับเป็น รายวันๆละ ไม่เกิน 10,000 บาท

2. ไม่แก้ไขตัวอาคาร หรืออุปกรณ์ที่ชำรุดตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่ง (มีความผิดตามมาตรา 65 จัตวา)

2.1. ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

2.2. ปรับเป็น รายวันๆละ ไม่เกิน 5,000 บาท

ผมมีความเห็นว่า อาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยถูกสร้างขึ้นมาโดยเพิกเฉย และไม่ได้ทำการก่อสร้างให้อาคารมีความปลอดภัยในการใช้งานอาคาร หรือ อยู่อาศัย นับเป็นจำนวนมากมาย เป็นต้นว่า ไม่ได้สร้างบันใดหนีไฟครบจำนวนตามข้อกำหนดของกฏหมายควบคุมอาคาร หรือสร้างบันใดหนีไฟในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือสร้างขนาดความกว้างของบันใดหนีไฟที่น้อยกว่าที่กำหนด หรือไม่ได้ติดตั้งระบบความดันอัดอากาศในทางหนีไฟ นอกจากนั้นยังพบว่าบางอาคารหลีกเลี่ยงการติดตั้งระบบป้องกัน หรือระบบเตือนภัยในอาคาร หรือแม้นกระทั้งทำการติดตั้งระบบป้องกันและเตือนภัยเพียงให้มองเห็นว่าเสมือนหนึ่งว่าได้ติดตั้ง แต่ไม่สามารถใช้งานได้ บางอาคารติดตั้งหัวรับน้ำดับเพลิงที่มีขนาดเกลียวไม่เท่ากับข้อต่อเกลียวของรถดับเพลิง เมื่อเวลาเกิดเหตุไม่สามารถต่อน้ำดับเพลิงเข้ากับรถดับเพลิงของหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัยได้ และอีกมากมายที่เจ้าของอาคารได้หลีกเลี่ยงไปจากข้อกำหนดในกฏหมายควบคุมอาคาร

แต่ก็ยังมีหลายอาคารได้ถูกออกแบบและทำการก่อสร้างครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฏหมายควบคุมอาคาร หรือทำการก่อสร้างไว้อย่างดีเยี่ยมสำหรับการป้องกันอุบัติภัย แต่การใช้งานของอาคารนั้นกลับเพิกเฉยหรือ ประมาทไม่คอยระวังเหตุ เป็นผลตามมาถึงความเสียหายที่ไม่คาดคิดได้ ดังเช่น เอาสิ่งของต่างๆไปวางไว้ในบริเวณทางหนีไฟ ทั้งที่วางไว้ชั่วคราว หรือวางไว้จนลืมไม่เคยนำออกไป เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ผู้คนต่างชุลมุน เพื่อออกทางประตูหนีไฟ แต่ก็ไม่สามารถออกมาตามทางหนีไฟได้ บางอาคารใช้ทางหหนีไฟสำหรับเป็นทางสัญจรตามปรกติ เวลาเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ควันไฟก็พวยพุ่งเข้าสู่บันใดหนีไฟ เป็นเหตุให้ผู้คนที่หนีไฟมาตามทางนี้ อาจสำลักควันไฟเสียชีวิตได้ บางอาคารกองเก็บสะสมสิ่งของประเภทอมน้ำได้ ดังเช่น กระดาษ กล่อง ผ้า สำลี หรือกำมะหยี ตามชั้นต่างๆไว้มากมาย วัสดุดังกล่าวถึงแม้นว่าจะมีน้ำหนักเบา แต่เมื่อถูกน้ำขณะเกิดเพลิงไหม้ สิ่งของเหล่านี้จะอมน้ำและมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ลักษณะการเก็บสิ่งของดังกล่าวเคยทำให้พื้นอาคารยุบตัวลงมาทั้งผืนที่เดียว

ดังนั้น ความประมาทเลินเลอ เกิดได้ทั้งในระหว่างการออกแบบ การก่อสร้าง และในช่วงการใช้งานอาคาร ซึ่งในขั้นตอนการออกแบบและการก่อสร้างที่ผู้ออกแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดประสบการณ์ โดยให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องแก่เจ้าของอาคาร  หรือเจ้าของอาคารบางรายมีความมัธยัสถ์ และประมาทคาดว่าคงไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นได้  โดยเฉพาะอาคารที่เจ้าของอาคารไม่ได้ทำการก่อสร้างเพื่อใช้สอย หรืออยู่อาศัยเองมักจะประมาทและเพิกเฉย ดังเช่นการก่อสร้างอพาร์ตเม้นท์ หรือคอนโดมิเนียมที่กำลังก่อสร้างคู่ขนานไปกับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯในปัจจุบันตลอดเส้นทาง ซึ่งผู้ประกอบการมีเจตนาลดต้นทุนในการก่อสร้างทุกทาง และหวังผลกำไรที่สูงที่สุด จึงไม่ได้ทำการติดตั้งและจัดหาระบบป้องกันความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานไว้ในอาคารปล่อยให้อนาคตเป็นผู้ชี้ชะตาถึงความปลอดภัยของอาคาร ฉะนั้นผู้ที่จะใช้อาคารหรือผู้ที่จะซื้อคอนโดต้องรู้เท่าทันในเรื่องการออกแบบ และก่อสร้างเบื้องต้น เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง สำหรับส่วนของการใช้อาคาร ผู้ใช้อาคารก็ควรเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นของการป้องกันภัย มีการทดสอบการใช้งานระบบ อุปกรณ์ต่างๆของอาคารอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์ ระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า หรือระบบดับเพลิง ควรมีการฝึกอบรมการป้องกันภัย การหนีไฟจากผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอทุกๆปีเป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมด้วยความไม่ประมาท ไม่ต้องเครียดและคอยกังวลว่าจะมีภัยร้ายเกิดขึ้น

Leave A Comment